วันพุธที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2558

คุณวุฒิวิชาชีพ Animation

คุณวุฒิวิชาชีพ Animation กับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ


คุณวุฒิวิชาชีพ ในสาขา animation ที่ผมไม่เคยสนใจ หรือรู้จักกับมันมาก่อน จนกระทั่งเมื่อวานก่อน ที่ผมได้ถูกแนะนำให้รู้จักกับ สถานบันคุณวุฒิวิชาชีพ และ สมาพันธ์สมาคมดิจิตอล คอนเทนต์บันเทิงไทย ผ่านงานเสวนาหัวข้อ : “การสร้างศักยภาพการแข่งขันด้านดิจิตอล คอนเทนท์ ด้วยมาตรฐานอาชีพ” โดยหลังจากงานสัมนา ผมเองก็ได้เล็งเห็นความสำคัญของสิ่งที่พวกเขาได้เริ่มทำเพื่อเพื่อน,พี่,น้อง ที่ทำงานในสาขาอาชีพ โดยเฉพาะสาขา Animation ที่ผมเคยได้มีโอกาสคลุกคลีอยู่หลายปี


เรามาทำความรู้จักกับ สถานบันคุณวุฒิวิชาชีพ กันก่อน นี่เป็นเนื้อหาที่นำมาจากเวปอย่างเป็นทางการ
หน่วยงานที่เป็นศูนย์กลางความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน กับภาครัฐบาล ในการยกระดับทักษะ ความรู้ความสามารถกำลังคนของชาติให้สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการที่จะเน้นสมรรถนะในการทำงาน เพื่อปรับตัวให้เท่าทันต่อการแข่งขันเสรีที่จะเกิดขึ้น โดยมีแนวคิดที่จะสร้างกรอบและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเพื่อที่จะกำหนด คุณวุฒิวิชาชีพ ระดับต่างๆ ให้เป็นมาตรฐาน ในการบ่งชี้ สมรรถนะ ของกำลังคนของไทย ตลอดจนส่งเสริมกลุ่มอาชีพให้มีความเข้มแข็ง สามารถสร้างมาตรฐานอาชีพขึ้นได้เอง เพื่อใช้เป็นฐานในการพัฒนากำลังคนระดับต่างๆ ให้สามารถตอบสนองได้ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการในฐานะเป็นอุปสงค์ของระบบ ในลักษณะเป็น Demand Driven

ต่อมาก็มารู้จักบทบาทและหน้าที่ของ สมาพันธ์สมาคมดิจิตอล คอนเทนต์บันเทิงไทย
ประสานความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน และสมาคมต่างๆ รวมถึงภาครัฐที่มีนโยบายส่งเสริมและผลักดัน ในส่วนของการพัฒนาประเทศ เพื่อให้ประสานและสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน มีเป้าหมายที่เด่นชัดคือ เพื่อร่วมผลักดันให้ภาคเอกชนทั้งใหญ่และเล็ก ให้มีขีดความสามารถในด้านการแข่งขันในระดับเวทีโลก ด้วยรูปแบบที่เป็นองค์รวมประสานสอดคล้องกันในการทำการตลาดต่างประเทศ เพื่อสร้างรายได้กลับสู่ประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจของประเทศไทย รวมถึงภาคประชาชนของประเทศให้มีขีดความสามารถในการพัฒนาตัวเองขึ้นมาแล้วก้าวไปในเวทีโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยท่านผู้อ่านจะเห็นว่า องค์กรทั้งสองนั้น ทำงานร่วมกันก็เพื่อยกระดับขีดความสามารถ และสร้างมาตราฐานในการแข่งขันให้กับภาครัฐและเอกชน เพื่อต้อนรับการเปิดเสรีทางการค้า การลงทุน ในปีที่ AEC กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่นานนี้

โดยจะมี key word อยู่ที่คำสามคำ ซึ่งก็คือ คุณวุฒิวิชาชีพ, มาตราฐานอาชีพ และ สมรรถนะ แต่แล้วมันแปลว่าอะไรล่ะ?
ในโลกของการทำงานที่ไม่เพียงแต่ต้องใช้ความรู้แต่ยังต้องใช้ทักษะและความเชี่ยวชาญหลายด้าน ที่เกิดจากการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติงานจริงและการฝึกฝนผู้ประกอบอาชีพทุกคนทั้งที่มีคุณวุฒิการศึกษาและไม่มี คุณวุฒิการศึกษาในสาขานั้นๆ ล้วนมีศักยภาพในการพัฒนาความสามารถการทำงานด้านต่างๆ ในหน้าที่ของตน ซึ่งการใช้ความรู้ทักษะและความสามารถมาประยุกต์ใช้เพื่อการประกอบอาชีพนี้เรียกว่า “สมรรถนะ” ซึ่งใน แต่ละสาขาอาชีพอันประกอบด้วย สายงานที่หลากหลายและในแต่ละสายงานต่างมีหลายอาชีพ แต่ละอาชีพจำเป็นต้องมีสมรรถนะหลายด้านเช่นในสาขาที่พักและโรงแรมสายงานการต้อนรับอาจประกอบไปด้วยอาชีพต่างๆ ตั้งแต่ผู้จัดการฝ่ายต้อนรับพนักงานต้อนรับพนักงานรับโทรศัพท์พนักงานยกกระเป๋ารวมถึงอาชีพอื่นๆ ซึ่งแต่ละอาชีพมีลักษณะงานในหน้าที่ที่แตกต่างกันออกไปและจำเป็นต้องใช้สมรรถนะที่หลากหลายในการทำงานในหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ
จากการตระหนักถึงความจำเป็นและความสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนากำลังคน สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ในฐานะหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่พัฒนาระบบคุณวุฒิวิชาชีพอันเป็นกลไกสำคัญที่จะยกระดับความก้าวหน้าและอัตราผลผลิตของกำลังคนในประเทศไทย สถาบันฯได้ร่วมกับ กลุ่มอุตสาหกรรมและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการระบุสมรรถนะที่อุตสาหกรรมต้องการเพื่อจัดทำ “มาตรฐานอาชีพ” อันหมายถึงการกำหนดระดับสมรรถนะของบุคคลในการประกอบอาชีพอีกทั้งยังรับรองทักษะและความเชี่ยวชาญ ของบุคคลด้วยการสร้างมาตรฐานในการวัดสมรรถนะเพื่อที่จะรับรอง “คุณวุฒิวิชาชีพ” ซึ่งหมายความว่าการรับรองความรู้ความสามารถและทักษะของบุคคลในการทำงานตามมาตรฐานอาชีพนั้น โดยคุณวุฒิวิชาชีพนี้จะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อกำลังคนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่มีคุณวุฒิการศึกษาระดับสูงแต่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการประกอบอาชีพ
เพราะงั้นถ้าจะกล่าวสั้นๆ เราจะสรุปได้ว่า
ระบบคุณวุฒิวิชาชีพ” ถูกพัฒนาขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อการรับรอง “สมรรถนะ” ของกำลังคนตาม มาตรฐานอาชีพ เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม “ระบบคุณวุฒิวิชาชีพ” เป็นกระบวนการรับรอง เพื่อให้บุคคลได้รับการยอมรับใน ความรู้ ทักษะ ตลอดจนความสามารถ และได้รับ “คุณวุฒิวิชาชีพ” ที่สอดคล้องกับสมรรถนะประสบการณ์และความรู้
และใช้ระบบคุณวุฒิวิชาชีพในการพัฒนาความเจริญก้าวหน้าในสายอาชีพของตนในอนาคต โดย “คุณวุฒิวิชาชีพ” สามารถเทียบเคียง และเชื่อมโยงกับระบบคุณวุฒิอื่นๆ
ของประเทศได้
โดยเนื้อหาในงานสัมนาในวันนั้น ก็เป็นการให้ข้อมูล และแจ้งให้ทราบถึงสถานะ การรับรอง "ระบบคุณวุฒิวิชาชีพ" ในสาขาแอนิเมชัน (Animation) โดยในขั้นต้น จะแบ่งออกเป็น 14 คุณวุฒิวิชาชีพ ดังนี้

  1. ช่างตัดต่อแอนิเมชัน ชั้น 4
  2. ช่างตัดต่อแอนิเมชัน ชั้น 3
  3. ช่างออกแบบเสียงแอนิเมชัน ชั้น 4
  4. ช่างออกแบบเสียงแอนิเมชัน ชั้น 3
  5. นักทัศนศิลป์ ชั้น 4
  6. นักทัศนศิลป์ ชั้น 3
  7. นักบริหารโครงการ ชั้น 5
  8. นักบริหารโครงการ ชั้น 4
  9. นักผลิตโครงสร้างตัวละครแอนิเมชั่น ชั้น 4
  10. นักผลิตโครงสร้างตัวละครแอนิเมชั่น ชั้น 3
  11. นักสร้างภาพแอนิเมชั่น ชั้น 4
  12. นักออกแบบโครงเรื่องแอนิเมชั่น ชั้น 3
  13. นักเขียนสตอรี่บอร์ด ชั้น 4
  14. นักเขียนสตอรี่บอร์ด ชั้น 3
ซึ่งตามกรอบคุณวุฒิจะแบ่งเป็นระดับขั้นดังนี้


เมื่อคุณเข้าไปตามลิงค์คุณวุฒิวิชาชีพ ทางด้านบน คุณจะเข้าสู่หน้ารายละเอียดต่างที่เกี่ยวข้องกับคุณวุฒิวิชาชีพนั้นๆ เช่น ทักษะ กลุ่มบุคคลในอาชีพ รวมถึง หน่วยสมรรถนะ ซึ่งตัวสมรรถนะ นี้เอง ที่จะช่วยให้คุณได้รับทราบว่า ถ้าคุณต้องการที่จะได้รับการรับรองในคุณวุฒิวิชาชีพนั้นๆ คุณจะต้องทำอะไรเป็นบ้าง?
เช่น สมรรถนะ จัดทำสตอรี่บอร์ด (Storyboarding) ของ นักเขียนสตอรี่บอร์ด ชั้น 4 จะมีรายละเอียดตัวอย่างเช่น
โดยแต่ละสมรรถนะ จะมีรายละเอียด เกณฑ์ในการปฏิบัติงาน เช่นในการ วาดภาพสตอรี่บอร์ด (Drawing) จะมีเกณฑ์ดังนี้
  1. เลือกใช้เครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับการวาดภาพสตอรี่บอร์ดได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับลักษณะงาน
  2. วาดภาพลงในสตอรี่บอร์ดได้อย่างถูกต้อง
  3. กำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมลงในสตอรี่บอร์ดได้อย่างถูกต้อง
โดยที่หลังจากการสัมนา ได้ความว่า ในวันที่ 19-20 ธันวาคมนี้ ทางสถาบันมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จะจัดการสอบคุณวุฒิวิชาชีพทาง animation น่าจะเป็นครั้งสุดท้ายของปีนี้ โดยการสอบในครั้งนี้ จะยังไม่มีค่าใช้จ่าย ในปีหน้า อาจจะมีค่าใช้จ่ายบางส่วน
โดยภายหลังจากการสอบ ท่านที่ผ่าน จะได้รับการบันทึกบนฐานข้อมูล และได้รับใบรับรองคุณวุฒิวิชาชีพนั้นๆ เพื่อที่ท่านจะสามารถนำไปอ้างอิงถึงความสามารถ(หรือสมรรถนะ)ของท่าน ว่าอยู่ในมาตราฐานวิชาชีพระดับใด คุณสามารถติดต่อทาง มหาวิทยาลัยได้โดยตรง ผ่านรายละเอียดบนเวปไซต์ http://www.ited.kmutnb.ac.th/CB/regis.html เพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ครับ

*** ในวันนี้ ผมขอสนับสนุนให้บริษัทห้างร้าน ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับงาน Animation ได้รับมาตราฐานนี้ และนำไปใช้กับ การสมัครงานของท่าน เพื่อกระตุ้นให้ผู้ที่หางาน ทำการรับรองสมรรถนะของตัวเองเพื่อเป็น standard ให้กับตนเองทั้งในประเทศ และเพื่อการอ้างอิงสมรรถนะของตัวเองในตลาด AEC ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น